พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทขอมในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 – 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 – ป. 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมร นับว่าเป็นปราสาทขอมโบราณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมแบบขอมโบราณที่ยังคงสมบูรณ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชวังฯแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2399 เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ และเป็นราชธานีชั้นใน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ปัจจุบันพื้นที่พระราชวังฯ บางส่วนยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยชาวเมืองลพบุรีจะนิยมเรียกพระราชวังฯ แห่งนี้กันติดปากว่า “วังนารายณ์”
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดอารามใน ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้งทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ องค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังปรากฏบนผลงานภาพจิตรกรรมฯ 8 จอมเจดีย์แห่งสยาม ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อีกด้วย
พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร เป็นพระที่นั่งที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2228 นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นสถานที่ศึกษาจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตและบุคคลในคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี เหตุที่ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่ศึกษาจันทรุปราคามีบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมมองท้องฟ้าได้ทุกด้าน มีพื้นที่กว้างพอในการติดตั้งเครื่องมือ มีหลักฐานภาพวาดการศึกษาจันทรุปราคาที่วาดโดยชาวฝรั่งเศสแสดงภาพสมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมลอมพอก ทรงกล้องยาวบนขา ตั้งทอดพระเนตรดวงจันทร์จากสีหบัญชรและตรงเฉลียงหน้าสีหบัญชรด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล้องส่องดาว กล่าวได้ว่าการศึกษาดาราศาสตร์เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็นเมืองลพบุรีนี่เอง ปัจจุบัน พระที่นั่งไกรสรสีหราชมีราษฎรบุกรุกสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตรัศมีใกล้ชิดโบราณสถาน กระทั่งวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กรมศิลปากรจึงได้ออกประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระตำหนักทะเลชุบศร
บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต ตั้งอยู่ทางเหนือของวังนารายณ์ราชนิเวศน์ และวัดเสาธงทอง ทางตะวันตกใกล้กับวัดปืน และทางตะวันออกใกล้กับเทวสถานปรางค์แขก สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2228 เพื่อใช้รับรองราชทูตชาวตะวันตกที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานที่พักอาศัยนี้ให้แก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายกชาวตะวันตกในราชสำนักสยาม ณ เวลานั้น ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุไว้ว่า “ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ผู้ว่าราชการที่สมุหนายก, ให้ก่อตึกสี่เหลี่ยมอันใหญ่, แลตึกเวียนมีกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นที่อยู่, แลให้ก่อตึกปิจุตึกคชสาร, แลตึกฝรั่งอื่นทั้งหลายเป็นอันมากตำบลที่ใกล้วัดปืน
เทวสถานปรางค์แขก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ปรางค์แขก เป็นโบราณสถานอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถือเป็นปราสาทขอมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่บนเกาะกลางถนนบริเวณแยกถนนวิชาเยนทร์กับถนนสุระสงครามหน้าศาลแขวงลพบุรี ซึ่งมีตึกแถวรายรอบ คลาคล่ำด้วยผู้คนและยวดยาน