1. วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีที่สันนิษฐานว่าท้าวอู่ทองเป็นผู้สร้างขึ้นในสมัยก่อนอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู สร้างตามลักษณะพระพุทธรูปแบบสุโขทัย พระพุทธไสยาสน์ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศมีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมี “พระกาฬ” เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และ “พระแก้ว” พระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์ และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ซึ่งพระกาฬและพระแก้วสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการอีกด้วย ส่วนบริเวณโดยรอบของวัดถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วน มีถนนและสถานที่จอดรถกว้างขวาง โดยตลอดสองข้างทางจะมีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อน รวมทั้งยังมีร้านค้า จำหน่ายอาหาร และของที่ระลึก ส่วนบริเวณทางเข้าด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ ต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติ ที่ผลิดอกบานสะพรั่งสวยงามอยู่เสมอ ส่วนด้านในตัววิหารเป็นรูปแบบศิลปกรรมอย่างไทย
2. อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน ด้วยพื้นที่เมืองยุทธศาสตร์การทำสงครามในสมัยอยุธยา ทำให้พื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีกลายเป็นสถานที่แห่งความทรงจำที่แสนภูมิใจของชาวไทยต่อวีรกรรมอันหาญกล้าของชาวบ้านบางระจัน และเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จึงได้มีการสร้าง “อนุสาวรีย์บางระจัน” ขึ้น จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนทั่วไปได้มานั่งพักผ่อนภายในสวนรุกชาติ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสุดร่มรื่นบนพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ กลางสวนโดดเด่นด้วยรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง 11 คน พร้อมทั้งสามารถเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์สำคัญได้จากอาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน ซึ่งจัดห้องนิทรรศการอยู่ตลอด โดยแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ห้องแรก แสดงเรื่องค่ายบางระจัน เครื่องใช้โบราณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย หนังใหญ่ ห้องที่สอง จัดแสดงมรดกเมืองสิงห์บุรี ห้องที่สาม แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสิงห์บุรีและของดีเมืองสิงห์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
3. แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย หนึ่งในสถานที่เก่าแก่ของเมืองสิงห์บุรี ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) หมู่ 7 บ้านโคกหม้อ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน โดย “แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย” ถูกค้นพบตามริมแม่น้ำน้อยตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งมีจำนวนมากถึง 200 เตา มีการสันนิษฐานผู้สร้างไว้สองแบบ คือ เป็นชาวจีนและช่างปั้นต่างถิ่นที่อพยพมาตั้งรกรากบริเวณนี้ หรืออาจจะเป็นช่างปั้นจากสุโขทัย สำหรับผลิตภัณฑ์จากแม่น้ำน้อย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่เป็น ไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกใส่ปูน ขวดปากแตรทรงสูง หวด ฝา เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม กระสุนดินเผาขนาดต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันกรมศิลปากรได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เตาแม่น้ำน้อยขึ้นเพื่อรักษาชิ้นงานประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ โดยมีลักษณะเป็นอาคารโปร่ง พร้อมจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งที่พบในแหล่งนี้
4. คูค่ายพม่า อีกหนึ่งสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ มีลักษณะเป็นเนินดินรูปตัว L ยาวประมาณ 5-15 เมตร กว้าง 3 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับพม่า ซึ่ง “คูค่ายพม่า” เป็นอีกหนึ่งฉากที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงออกศึกรบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่มาตั้งทัพอยู่บริเวณปากแม่น้ำพุทรานั่นเอง ส่วนในปัจจุบันบริเวณนี้ถูกปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน บริเวณด้านหน้าโดดเด่นด้วยกำแพงค่ายสีแดงอิฐ และมีศาลาปูนปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยืนถือดาบ รวมทั้งสร้างพระพุทธรูปให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์ สำหรับเก็บวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 และด้วยจำนวนที่มากขึ้นของโบราณวัตถุทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกส่งต่อให้กรมศิลปากรดูแล พร้อมเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี” ลักษณะเป็นอาคาร 2 หลัง แบ่งออกเป็น 4 ห้อง โดยอาคารเพิ่ม ดุริยางกูร จัดแสดงชั้นบนเป็นศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น ส่วนอาคารศักดิ์บุรินทร์ จัดแสดงศิลปวัตถุโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง แหล่งเตาแม่น้ำน้อย และชั้นล่างจัดแสดงการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดบริการในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. โดยเสียค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท และชาวต่างชาติคนละ 50 บาท อีกทั้งยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี โทรศัพท์ 0 3658 1986
6. วัดหน้าพระ วัดตั้งอยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ โดยสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า ลักษณะโดดเด่นของวัดแห่งนี้ คือ องค์พระปรางค์ ที่ก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ 8 วา ที่ภายหลังมีการบูรณะเพิ่มเติมด้วยสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น ซึ่งตัวพระปรางค์ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง และทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ มีเจดีย์ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบหลายองค์เช่นกัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่มองหาสถานที่เก่าแก่ เหมาะสำหรับถ่ายภาพเก็บความทรงจำเป็นอย่างยิ่งเลยก็ว่าได้
7. ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม สัตว์คู่บ้านคู่เกษตรกรชาวไทยมายาวนาน รวมทั้งเป็นพาหนะที่ใช้ออกศึกดังที่จะเห็นได้จากเรื่องหมู่บ้านบางระจัน ที่นายทองเหม็น ชาวบ้านบางระจันขี่ กระบือ หรือ ควาย ในการทำศึกสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม” ขึ้นเพื่อดูแลกระบือ และอนุรักษ์ไม่ให้หายไปจากประเทศไทย หลังจากที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยของจักรกลเข้ามาแทนที่ความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ระหว่างกระบือและชาวไร่-ชาวนา โดยทางศูนย์แห่งนี้จะทำการพัฒนาตลอดจนมอบกระบือให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงขนายพันธุ์ต่อ ๆ ไป และสำหรับผู้ที่ไถ่ชีวิตกระบือมาจากโรงฆ่าสัตว์สามารถส่งต่อให้ทางศูนย์ได้เลี้ยงดูและขยายพันธุ์ต่อได้อีกด้วย